Column banner

วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ของขวัญอันยั่งยืนที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวกัมพูชา

 

     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สนพระทัยในอารยธรรมเขมรมาตั้งแต่เมื่อทรงศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ทรงเริ่มศึกษาภาษาเขมรทั้งการอ่านและเขียนอักษรขอม ต่อมา เมื่อทรงเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ทรงศึกษาเพิ่มเติมภาษาเขมรและความรู้เกี่ยวกับเขมรหลายวิชา จนทรงสามารถอ่านและแปลจารึกเขมรโบราณได้ ทั้งยังสนพระทัยในประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีเขมร หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาและทรงงานที่สภากาชาดไทย ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในการสงเคราะห์ชาวกัมพูชาที่อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ได้ทรงใช้ภาษาเขมรและความรู้เรื่องเขมรที่ทรงศึกษามาให้เกิดประโยชน์ ทรงยึดมั่นในอุดมการณ์ของกาชาดที่ต้องช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรมโดยไม่เลือกชาติ ศาสนา หรือแนวคิดทางการเมือง

     ในด้านการเจริญพระราชไมตรีระหว่างประเทศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕ โดยทรงเป็นราชอาคันตุกะของสมเด็จพระเจ้านโรดมสีหนุ และด้วยทรงมีพระราชดำริว่ากัมพูชาเป็นแหล่งอารยธรรมอันทรงคุณค่าของโลก จึงได้เสด็จ ฯ เยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอีกหลายครั้งเพื่อทรงศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ในการเสด็จ ฯ เยือนแต่ละครั้ง ชาวกัมพูชาจะรอเฝ้า ฯ รับเสด็จ ฯ ด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง จึงทรงมีพระราชปรารภที่จะตอบแทนน้ำใจไมตรีของชาวกัมพูชา ทรงพระราชดำริว่าการพระราชทานสิ่งอื่น ๆ ย่อมสำเร็จประโยชน์แค่เป็นการชั่วคราว ไม่ยั่งยืนเช่นกับการให้การศึกษา ซึ่งจะเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ ผู้ได้รับความรู้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทบทวีคูณ ทั้งครูและนักเรียนก็จะได้นำความรู้ไปช่วยกันพัฒนาราชอาณาจักรกัมพูชาให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

     รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรี จึงได้สนองแนวพระราชดำริ โดยขอพระราชทานระบบการศึกษา และน้อมเกล้า ฯ ถวายที่ดินบริเวณใจกลางประเทศจำนวน ๔๕ ไร่ (ต่อมาได้ขยายเป็น ๑๑๗ ไร่) ในอำเภอปราสาทซ็อมโบร์ จังหวัดกำปงธม เป็นพื้นที่ก่อสร้าง

     เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ดำเนินการจัดทำ โครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ด้านการศึกษาและการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน โดยมีกรมราชองครักษ์ กองบัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมสนองพระราชดำริ เป้าหมายของโครงการ คือ พระราชทานระบบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นสายสามัญ และมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายวิชาชีพ มีการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน การเกษตรกรรม และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ในการนี้ โปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้ง คณะกรรมการโครงการโรงเรียนพระราชทานในราชอาณาจักรกัมพูชา ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายไทย และฝ่ายกัมพูชา เพื่อร่วมกันดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนปราสาทซ็อมโบร์ (ปัจจุบันคือวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล) และทรงรับเป็นประธานโครงการ

     เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ ไปทรงตรวจพื้นที่ที่จะก่อสร้างโรงเรียน และเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เสด็จ ฯ ไปทรงวางศิลาฤกษ์โรงเรียนพระราชทาน ต่อมา ได้เสด็จ ฯ ไปทรงติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานอีกหลายครั้ง ระหว่างนั้น โปรดเกล้า ฯ ให้คณะกรรมการเข้าเฝ้า ฯ ถวายรายงานความก้าวหน้าและรับพระราชทานพระราชวินิจฉัยในการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และได้เสด็จ ฯ ไปทรงเปิดวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ณ ตำบลซ็อมโบร์ อำเภอปราสาทซ็อมโบร์ จังหวัดกำปงธม ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘


      แนวพระราชดำริในการจัดการศึกษา  ทรงเน้นความสำคัญในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

  • การจัดการศึกษา : ต้องคำนึงถึงขอบเขตและความเป็นไปได้ตามสถานภาพของที่นั้น หลักสูตรและเนื้อหาวิชาให้ยึดหลักสูตรของกัมพูชาเป็นหลักและเพิ่มเติมสิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์
  • สุขภาพอนามัยและโภชนาการ : โภชนาการที่ดี จะทำให้สุขภาพอนามัยดี สติปัญญาและการเรียนของนักเรียนก็จะดีตามไปด้วย
  • สหกรณ์โรงเรียน : ให้ใช้หลักการสหกรณ์เป็นเครื่องมือในการฝึกการบริหารและการจัดการ ฝึกการบันทึกรายรับ – รายจ่าย
  • การอนุรักษ์โบราณสถาน : เนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่ในบริเวณโบราณสถานซึ่งงดงาม นักเรียนควรรู้จักหวงแหนและอนุรักษ์ไว้ และควรมีความรู้ความสามารถในการบรรยายให้นักท่องเที่ยวฟังได้ และจะเป็นรายได้ให้กับชุมชน
  • การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม : ควรปลูกฝังให้นักเรียนและชุมชนมีจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้รู้จักรัก หวงแหนป่าและต้นไม้ นำไปสู่การรักและหวงแหนประเทศชาติในที่สุด
  • การเรียนภาษาต่างประเทศ : ในอนาคตจะมีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวในกัมพูชามากขึ้น ภาษาไทยและภาษาอังกฤษจึงน่าจะเป็นภาษาที่นำมาสอนในโรงเรียนได้ เพราะจะช่วยในการค้นคว้าและประกอบอาชีพ

     ในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารสถานที่ อาทิ อาคารบริหาร อาคารเรียน ๖ หลัง อาคารห้องสมุด อาคารเทคโนโลยีการศึกษา (ห้องคอมพิวเตอร์และห้องปฏิบัติการทางภาษา) อาคารพักอาศัยสำหรับครู หอพักอาศัยนักเรียนหญิง ห้องน้ำห้องส้วม สนามกีฬา และโรงเลี้ยงไก่ เริ่มต้นดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ต่อมา ได้มีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก อาทิ อาคารสหปฏิบัติการ อาคารอเนกประสงค์สำหรับจัดประชุมและกิจกรรม หอพักนักเรียนชาย เป็นต้น และได้ขยายพื้นที่โรงเรียนออกไปอีก ๗๒ ไร่ รวมเป็น ๑๑๗ ไร่ การก่อสร้างทั้งหมดเสร็จสิ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘

     การจัดการศึกษาของวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล มีทั้งการศึกษาสายสามัญ (เกรด ๗ – ๑๒) และสายอาชีวศึกษา (เกรด ๑๐ – ๑๒) จำนวน ๔ สาขาวิชา คือ สาขาวิชาไฟฟ้า สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชากสิกรรม และสาขาวิชาปศุสัตว์
 
     ในการเตรียมการทางด้านการบริหารการศึกษา ได้การเตรียมความพร้อมบุคลากรของโรงเรียน มีการคัดเลือกบุคลากรครูและผู้บริหารโรงเรียน มีการฝึกอบรมขั้นพื้นฐาน อาทิ การจัดอบรมและสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ศึกษาดูงานสถานศึกษาต่าง ๆ วางแผนจัดกิจกรรม ผลิตสื่อการสอน รวมทั้งการฝึกอบรมขั้นสูง อาทิ การวิเคราะห์หลักสูตร การจัดทำแผนการสอนระยะยาว และการจัดทำระบบการวัดและประเมินผลการเรียนการสอน

     เพื่อเป็นการสนับสนุนการศึกษาของวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานทุนแก่นักเรียนเพื่อให้มาศึกษาต่อในประเทศไทยในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรอาชีวศึกษา เพื่อนำความรู้กลับไปปฏิบัติงานสอนและพัฒนาการจัดการศึกษาของวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังทรงเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ ได้พระราชทานเครื่องดนตรีปี่พาทย์ครบชุด พระราชทานทรัพย์สำหรับจ้างครูท้องถิ่นผู้ชำนาญการสอนนาฏศิลป์และดนตรี

     เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในพิธีสารแก้ไขความตกลงโครงการและพิธีสาร ค.ศ. ๒๐๐๒ ระหว่างกรมราชองครักษ์แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชนและการกีฬาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยความร่วมมือในการจัดตั้งและพัฒนาวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล จังหวัดกำปงธม ราชอาณาจักรกัมพูชา และได้มีกระแสพระราชดำรัสที่สะท้อนให้ประจักษ์ถึงพระราชประสงค์ ดังมีใจความตอนหนึ่งว่า

        “...ข้าพเจ้ารู้สึกพอใจที่โรงเรียนกำปงเฌอเตียลได้ทำงานมาได้ระยะหนึ่ง กรรมการทั้งสองฝ่ายดำเนินการมาอย่างเป็นที่น่าพอใจ ความต้องการของข้าพเจ้าคือ ต้องการมีส่วนร่วมในการให้การศึกษาเยาวชนกัมพูชาซึ่งเป็นเยาวชนที่มีศักยภาพเป็นอย่างดี และถ้าได้การศึกษาเล่าเรียนและฝึกอบรมที่ดีแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ต่อสังคมกัมพูชา และสังคมโลกสืบต่อไป สิ่งที่คาดหวังจากนักเรียนเหล่านี้คือ

            ประการที่ ๑ ต้องการเห็นนักเรียนมีความรู้ความสามารถด้านวิชาการ ที่สามารถจะนำความรู้ไปทำอาชีพ ปฏิบัติงานต่าง ๆ ได้ และสามารถศึกษาต่อในระดับขั้นที่สูงขึ้นได้ 

            ประการที่ ๒ ให้เป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต พร้อมที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ 

            ประการที่ ๓ มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง สามารถที่จะปฏิบัติงานต่าง ๆ ได้ด้วยดี 

            ประการที่ ๔ เป็นผู้มีความสามารถในการบริหารจัดการดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยากจะให้มาช่วยในการจัดการศึกษาของโรงเรียนนี้ให้ต่อเนื่องไป ไม่ให้ทอดทิ้ง มิให้มีคุณภาพที่ด้อยลง หวังว่าเยาวชนเหล่านี้จะมีความคิดที่พัฒนาให้งานของเราดีขึ้น ๆ จะได้เป็นประโยชน์สร้างชีวิต และสร้างชาติกัมพูชาต่อไป...”